ตำบลคู

ที่ว่าการอำเภอจะนะ
33 หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา 90130

ข้อมูลพื้นฐานตำบลคู

ประวัติความเป็นมาของตำบลคู

 

  • ประวัติความเป็นมาของตำบลคู  

ตำบลคู หรือ คูค่าย ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นหมู่บ้านเล็กๆที่ได้รับการขนานนามว่า “ บ้านศักดิ์สิทธิ์ "ซึ่งเป็นหมู่บ้านทางผ่านของทัพเจ้าเมืองจะนะ (วังโต้) เพื่อเดินทางไปยังมณฑลสงขลา ครั้งหนึ่ง เมืองจะนะ ถูกกองโจรมาลายาบุกโจมตี ทัพเมืองจะนะสู้ไม่ได้ จึงได้ถอยทัพมายังบ้านศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งห่างจากเมืองจะนะ ประมาณ 10 กิโลเมตร โดยเจ้าเมืองจะนะเห็นว่า บ้านศักดิ์สิทธิ์มีทำเลเหมาะสมในการก่อตั้งค่าย จึงได้ก่อตั้งค่ายพร้อมระดมพลเพื่อขุดคูป้องกันการโจมตีจากข้าศึกและเรียกชื่อว่า “ บ้านค่าย ” (บ้านค่าย ในปัจจุบันนั้น คือสวนยางพาราซึ่งอยู่หลังที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลคู) ครั้งเมื่อทางมณฑลสงขลา ทราบว่า เมืองจะนะถูกโจมตีจากกองโจรมาลายา จึงได้ยกทัพมาช่วย ในการสู้รบกันครั้งนั้นทำให้กองโจรมาลายาพ่ายแพ้และล้มตายเป็นจำนวนมาก บ้านค่ายจึงกลายเป็นสุสานขนาดใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันนี้ไม่เหลือร่องรอยของสุสานแล้ว
           ยังมีเรื่องเล่าต่อไปอีกว่า บ้านค่ายหรือคูค่าย เมื่อสงครามสิ้นสุดลงได้ทิ้งร่องรอยของคู ซึ่งมีขนาดใหญ่คล้ายลำคลองเอาไว้ โดยใกล้ลำคลองจะมีต้นพิกุล (ปัจจุบันยังคงมีอยู่บริเวณหลังที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลคูทางทิศตะวันตก ประมาณ 200 เมตร ) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่สถิตย์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน นั่นคือ “ โต๊ะหยัง ” ผู้ดูแลรักษา “ ไหทองคำ ” สมบัติของโจรมาลายาที่ตายในสงครามและได้ฝากโต๊ะหยังเอาไว้ คนเฒ่าคนแก่เล่าว่า เมื่อถึงฤดูน้ำหลากผู้มีบุญจะได้เห็น “ ไหทองคำ ” จำนวน 1 คู่ลอยอยู่ในคลอง (คูค่าย) แต่ไม่มีใครสามารถหยิบจับ “ ไหทองคำ ” คู่นั้นมาเป็นเจ้าของได้
          “ โต๊ะหยัง ” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตอยู่ที่ต้นพิกุลจะสำแดงฤทธิ์แปลงกายเป็นงูใหญ่สีขาว เมื่อมีบุคคลภายนอกเดินทางไปยังบริเวณต้นพิกุล ทั้งนี้เชื่อว่าเป็นการตักเตือนของโต๊ะหยังว่าบริเวณดังกล่าวมีเจ้าของ ห้ามเข้ามากร้ำกราย ในสมัยก่อนเป็นที่เล่าต่อๆกันว่า หากคณะหนังตะลุงหรือมโนราห์จะเดินทางผ่านบ้านศักดิ์สิทธิ์ไปทำการแสดงยังที่อื่นๆหากไม่หยุด ทำการ แสดงเพื่อ ขอผ่านทาง คนในคณะจะเจ็บป่วยกะทันหัน ดังนั้นจึงเป็นที่ทราบโดยทั่วกันของคณะหนังตะลุงและมโนราห์ หากมีความจำเป็นต้องเดินทางผ่านบ้านศักดิ์สิทธิ์จะต้องหยุดทำการแสดงเพื่อขอผ่านทางก่อน จำนวน 1 คืน นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อ “ บ้านคูศักดิ์สิทธิ์ ” ซึ่งเป็นหมู่บ้านหนึ่งของตำบลคูในปัจจุบัน
          ปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าทำให้คนรุ่นใหม่หลงลืมและไม่ใคร่ให้ความยอมรับนับถือ “ โต๊ะหยัง ” จะมีก็แต่คนเฒ่าคนแก่เท่านั้นที่ยังให้การยอมรับนับถืออยู่ ในปัจจุบันยังมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นอยู่ที่ต้น พิกุล ในคืนแรม 15 ค่ำ นั่นคือจะปรากฏลูกไฟขนาดใหญ่ลอยขึ้นไปทางทิศตะวันออกแล้วค่อยๆจางหายไป ทุกวันนี้นักพนันวัวชน, ไก่ชน จะนิยมมาบนบานกับ “ โต๊ะหยัง ” เพื่อให้ได้รับชัยชนะและจะกลับมาแก้บนในภายหลัง ซึ่งก็แล้วแต่ว่าจะบนบานเอาไว้ว่า อย่างไร และนี่คือประวัติความเป็นมาของ “ ตำบลคู ” ตำบลที่มีชื่อเพียงพยางค์เดียว แต่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานและน่าประทับใจ

  • สภาพทั่วไป

          ตำบลคูเป็นตำบลหนึ่งที่อยู่ใน 14 ตำบลของอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาซึ่งอยู่ทางทิศใต้ โดยมีอาณาเขตติดต่อกับตำบลต่าง ๆ

  • อาณาเขตตำบล
  • ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลบ้านนา , ตำบลป่าชิง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
  • ทิศใต้ ติดกับ ตำบลแค อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
  • ทิศตะวันออก ติดกับตำบลท่าหมอไทร อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
  • ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลนาหว้า อำเภอจะนะจังหวัดสงขลา

ภูมิประเทศ 
          ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำ ลำคลองหลายสายมีน้ำไหลผ่านตลอดปี
ภูมิอากาศ
ฤดูกาลมี 2 ฤดู คือฤดูร้อนและฤดูฝน

 

เศรษฐกิจ 
          ประชากรส่วนใหญ่ในตำบลคู ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำสวนยางพาราทำนาข้าวเลี้ยงสัตว์ ทั้งประเภทส่วนตัวและรวมกลุ่ม นอกจากนี้ยังประกอบอาชีพรับจ้าง ทำงานโรงงานอุตสาหกรรมอีกด้วย

เส้นทางการคมนาคม การเดินทางเข้าสู่ตำบล 
          การเดินทางเข้าสู่ตำบลที่มีทางหลวงหมายเลข 408 ตัดผ่าน ทำให้คมนาคมสะดวก พื้นที่เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูก ภายในตำบลมีแหล่งน้ำธรรมชาติไหลผ่านหลายสาย
สังคม 
          ตำบลคู ประกอบด้วย 9 หมู่บ้านประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม คิดเป็นประมาณร้อยละ 90 ของประชากรทั้งหมดในพื้นที่
การเมือง 
           สภาองค์การบริหารส่วนตำบลคู ในปัจจุบัน   ได้รับการเลือกตั้งมาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2548  และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดสงขลา ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2548   ซึ่งจะหมดวาระลงในวันที่ 30  กรกฎาคม  2552 
           การเลือกตั้งในวันที่ 31 กรกฎาคม 2548 ของตำบลคูนั้น   ถือได้ว่าเป็นการเลือกตั้งนายก อบต.โดยตรงเป็นครั้งแรกและในปัจจุบัน สภา อบต.คู ได้ประกอบด้วย นายก อบต. จำนวน 1 คน สมาชิกสภา อบต. จำนวน 18 คน รองนายก อบต. จำนวน 2 คน เลขานุการนายก อบต. 1 คน ที่ปรึกษานายก อบต. จำนวน 3 คน


การศึกษา 
1.โรงเรียนประถมศึกษา 3 แห่ง ได้แก่

  • โรงเรียนบ้านคูศักดิ์สิทธิ์ หมู่ที่ 4
  • โรงเรียนวัดนาปรือ หมู่ที่ 8
  • โรงเรียนบ้านโหนด หมู่ที่ 9

2. โรงเรียนมัธยมศึกษา 1 แห่ง

  • โรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์ หมู่ที่ 3

3. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 3 แห่ง

  • ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ประจำมัสยิดบ้านคูประดู่หมู่ที่ 1
  • ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ประจำมัสยิดเร๊าะหม๊ะ หมู่ที่ 2
  • ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ประจำมัสยิดบ้านทุ่ง หมู่ที่ 6

ศาสนา

  • วัด 1 แห่ง คือ
  • วัดมัชฌิมเขต หมู่ที่ 8
  • มัสยิด 6 แห่ง
  • มัสยิดบ้านคูประดู่ หมู่ที่ 1
  • มัสยิดบ้านพ้อแดง หมู่ที่ 2
  • มัสยิดบ้านนายัม หมู่ที่ 3
  • มัสยิดบ้านคู หมู่ที่ 5
  • มัสยิดบ้านทุ่งหมู่ที่ 6
  • มัสยิดบ้านปลักพ้อ หมู่ที่ 9
  • บาไลเซาะฮ์ 13 แห่ง คือ
    • หมู่ที่ 1 จำนวน 1 แห่ง  
    • หมู่ที่ 2 จำนวน 3 แห่ง  
    • หมู่ที่ 4 จำนวน 4 แห่ง  
    • หมู่ที่ 5 จำนวน 1 แห่ง  
    • หมู่ที่ 6 จำนวน 2 แห่ง  
    • หมู่ที่ 8 จำนวน 2 แห่ง

การรวมกลุ่ม 
•  หมู่ที่1 กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มน้ำยางกลุ่มเลี้ยงกระบือและโค
•  หมู่ที่ 2 กลุ่มออมทรัพย์
•  หมู่ที่ 3 กลุ่มเลี้ยงโค
•  หมู่ที่ 4 กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มปุ๋ย กลุ่มผ้าคลุมผมสตรี
•  หมู่ที่ 5 กลุ่มน้ำยาง
•  หมู่ที่ 6 กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มผ้าคลุมผมสตรี
•  หมู่ที่ 7 กลุ่มออมทรัพย์
•  หมู่ที่ 8 กลุ่มสัจจะ กลุ่มน้ำยาง
•  หมู่ที่ 9 กลุ่มเลี้ยงวัวพื้นเมือง
ด้านสาธารณสุข 
สถานีอนามัยประจำตำบล 1 แห่ง คือสถานีอนามัยตำบลคู ตั้งอยู่ ม.2 บ้านพ้อแดง ต.คู
สถานที่สำคัญ 
          องค์การบริหารส่วนตำบลคู ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 4 บ้านคูศักดิสิทธิ์ ต.คู
ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่

  • ทรัพยากรดินสำหรับใช้ในการเกษตรจำนวน 20,000 ไร่ และทรัพยากรแหล่งน้ำจำนวน 23 สาย
  • แหล่งน้ำที่สร้างขึ้น ได้แก่
  • ฝาย 3 แห่ง ตั้งอยู่หมู่ที่ 2, 6 และ 7
  • อ่างเก็บน้ำ หมู่ที่ 8

ประชากร 
มีประชากรทั้งสิ้น 6,623 คน เป็นชาย 3,293 คน หญิง 3,330 คน