ตำบลแค

ที่ว่าการอำเภอจะนะ
33 หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา 90130

ข้อมูลพื้นฐานตำบลแค

ประวัติตำบลแค 
       ตำบลแค ตั้งอยู่ในเขตการปกครองของ อำเภอจะนะ  เป็นชุมชนชนบท  มีการทำนาข้าวและการทำสวนยางเป็นอาชีพหลัก  ชาวบ้านในตำบลแคส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม  ประกอบไปด้วย  7 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านโคกยาง, บ้านแคเหนือ, บ้านแคใต้, บ้านเพนียด, บ้านทุ่งครก, บ้านคูนายสังข์, บ้านสำนักยอ
อาณาเขตตำบล       

       ตำบลแคมีเนื้อที่ทั้งหมดจำนวน 40.12 ตารางกิโลเมตร หรือ 25,075 ไร่ ภูมิประเทศเป็นที่ราบสลับเนินเขา มีแม่น้ำลำธารหลายสายมีน้ำไหลตลอดปี

ด้านทิศตะวันออก เป็นที่ราบลุ่ม ด้านทิศตะวันตก เป็นเนินเขาเตี้ย ๆ มีลำคลองไหลผ่านมีป่าไม้เบญจพรรณ ด้านภูมิอากาศจะมี 2 ช่วง คือ ฤดูร้อน และ ฤดูฝน มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ          จด     ตำบลคู อ.จะนะ
  • ทิศใต้             จด     ขุนตัดหวายและตำบลน้ำขาว อ.จะนะ
  • ทิศตะวันออก    จด     ตำบลท่าหมอไทร อ.จะนะ
  • ทิศตะวันตก      จด     ตำบลน้ำขาว อ.จะนะและตำบลพะตง อ.หาดใหญ่

ข้อมูลสถานที่สำคัญของตำบล

  • การศึกษา

โรงเรียนประถมศึกษา 3   แห่ง   คือ

  • โรงเรียนบ้านแค                                ตั้งอยู่ที่หมู่ 3 บ้านแคใต้
  • โรงเรียนบ้านทุ่งครก                           ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 บ้านทุ่งครก
  • โรงเรียนบ้านคูนายสังข์                       ตั้งอยู่ที่หมู่ 6 บ้านคูนายสังข์

       ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก     2   แห่ง   คือ

  • ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมัสยิดบ้านคูแค        ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 บ้านแคเหนือ
  • ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดคูนายสังข์            ตั้งอยู่ที่หมู่ 6บ้านคูนายสังข์
  • สถาบันทางศาสนา

       วัด                         2 แห่ง   คือ 

  • วัดคูนายสังค์                                   ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 6 บ้านคูนายสังค์
  • วัดขวดมากศรีธรรมศิริ                       ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 5 บ้านคลองหาร

    มัสยิด            3     แห่ง   คือ
  • มัสยิดมะวาย์                                    ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 บ้านแคเหนือ
  • มัสยิดกามารียะห์                            ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 บ้านเพนียด
  • มัสยิดตักกียะห์                               ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 บ้านทุ่งครก

       บาลาย              3     แห่ง   คือ

  • บาลายเซาะทุ่งโตะโพธิ์                     ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 บ้านแคเหนือ
  • บาลายเซาะป่าไทร                          ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 บ้านเพนียด
  • บาลายเซาะบ้านทุ่งครก                       ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 บ้านทุ่งครก
  • การสาธารณะสุข 

      สถานีอานามัย          2   แห่ง   คือ

  • สถานีอานามัยบ้านแค                         ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 บ้านทุ่งครก
  • สถานีอานามัยบ้านคูนายสังข์              ตั้งอยู่ที่หมู่ 6  บ้านคูนายสังข์ 

      สถานที่ท่องเที่ยว

  • ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว

วัดขวดมากศรีธรรมศิริ

            

          วัดขวดมากศรีธรรมศิริ หรือเรียกอีกอย่างคือ วัดขวด เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของตำบลแค ตั้งอยู่ที่ หมู่ 5 ตำบลแค อำเภอจะนะจังหวัดสงขลา  การเดินทางใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 408 ตามเส้นทางจาก อำเภอจะนะไป อำเภอนาทวี ตรงหลักกิโลเมตรที่ 43 หน้าโรงเรียนบ้านแค  ซึ่งมีถนนแยกเข้าไปถึงวัด  (ประมาณ 6 กิโลเมตร) วัดขวดสร้างเมื่อปี พ.ศ.2536 โดยมีชาวบ้านบริจาคที่ดินให้ มีพระครูสุนทร ธรรมสิริ เป็นเจ้าอาวาส

         วัดขวดมากศรีธรรมศิริ  เป็นวัดที่มีชื่อเสียงด้านการใช้วัสดุก่อสร้างทั้งอุโบสถ, โรงธรรม, กุฏิ, เจดีย์, ฝาผนัง ไม่เว้นแม้กระทั่งห้องน้ำ ซึ่งเป็นความคิดสร้างสรรค์ของเจ้าอาวาสที่ต้องการประหยัดวัสดุก่อสร้างโดยใช้ขวดแทนอิฐ ขวดที่ใช้มีหลากหลายทั้งขนาด รูปทรง และสีสัน โดยเลือกใช้ตามความเหมาะสม ภายในบริเวณมีเนื้อที่กว่า 20 ไร่ วิหารเป็นโครงสร้างคอนกรีตทรงไทย ซึ่งในการก่อสร้างมีความยากมาก ด้านล่างของวิหารจะมีชั้นใต้ดิน ส่วนด้านหลังของวัดจะเป็นบ่อปลาขนาดใหญ่ไว้ให้ผู้มีจิตศรัทธามาให้อาหารปลา มีทั้งปลาตะเพียน ปลาดุก ปลาช่อน ซึ่งทางประมงและชาวบ้านมาร่วมกันปล่อย ปัจจุบันได้รับการกล่าวขานจากหนังสือพิมพ์ไต้หวันว่า  เป็นแหล่งสร้างงานรีไซเคิลที่ใหญ่ที่สุดในโลก


ที่มาของชื่อหมู่บ้านในตำบลแค

  • หมู่ที่ 1 บ้านโคกยาง

นายดีน  ยีบากา เล่าว่า หมู่บ้านนี้ มีลักษณะพื้นดินสูงที่เรียกว่าโคกและเดิมเป็นป่ามีต้นยางจำนวนมาก และมีต้นยางใหญ่ 2 ต้น อยู่กลางหมู่บ้าน ต่อมามีการเพิ่มของประชากรในหมู่บ้าน ทำให้ต้องโค่นต้นยาง ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านโคกยาง”

  • หมู่ที่ 2 บ้านแคเหนือ

นางหับเส๊าะ เจเพ็ง เล่าว่าชาวบ้านได้เล่าต่อกันมาว่า คนกลุ่มแรกที่เข้ามาอาศัยอยู่นับถือศาสนาพุทธ และมีผู้นำสมัยแรกคือ กำนันเอียด (พ่อขุน) ต่อมาระยะเวลา 300 ปี ให้หลัง ผู้นำคือ มูฮำหมัดวงศ์ เป็นผู้นำชุมชนอิสลามมามีบทบาทในพื้นที่นี้ถึงปัจจุบันพื้นที่บริเวณตำบลแคในสมัยก่อนเป็นที่ตั้งของวัด มีต้นแคใหญ่อยู่ 3 ต้น จะอยู่ทางเข้าวัด 2 ต้น อีกต้นจะอยู่ท้ายหมู่บ้าน ซึ่งเป็นต้นที่ใหญ่ที่สุดและแตกต่างไปจากสถานที่อื่นจึงได้เรียกขานต่อกันมาว่า บ้านแค ซึ่งแยกออกเป็น ม.2 บ้านแคเหนือ และม.3 บ้านแคใต้ ส่วนบ้านแคเหนือ คือหมู่บ้านแค ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือ

  • หมู่ที่ 3 บ้านแคใต้ นางหับเส๊าะ เจเพ็ง นายหมัด อะนวล เล่าว่าพื้นที่บริเวณตำบลแคสมัยก่อนเป็นที่ตั้งของวัด มีต้นแคใหญ่อยู่ 3 ต้น จะอยู่ตรงทางเข้าประตูวัด 2 ต้น อีกต้นจะอยู่ท้ายหมู่บ้าน ซึ่งเป็นต้นที่ใหญ่ที่สุดและแตกต่างไปจากสถานที่อื่นจึงได้ชื่อเรียกขานต่อกันมาว่า บ้านแค  ซึ่งแยกออกเป็น ม.2 บ้านแคเหนือและ ม.3 บ้านแคใต้ เนื่องจากอยู่ทิศใต้ของบ้านแคเหนือ
  • หมู่ที่ 4 บ้านเพนียด

นายบ่าว หัสเอียด เล่าว่า หมู่บ้านนี้ แต่ก่อนเป็นป่าทึบและป่าขนาดใหญ่ มีช้างป่าอาศัยอยู่มาก ชาวบ้านจึงทำที่สำหรับดักจับช้าง เพื่อนำช้างไปใช้งาน และเป็นช้างศึก ส่งให้ทางราชการสมัยกรุงศรีอยุธยา ขั้นตอนการจับช้างที่หมู่บ้านนี้อาศัยช่องทางการเดินของช้างป่า ผ่านทางหมู่บ้านนี้สมัยก่อนไม่มีคนอาศัยอยู่ ช้างจะเดินผ่านเป็นโขลงเดินผ่านช่องทางเดินของช้างซึ่งเป็นร่องลึกชาวบ้านได้ทำเพนียด หมายถึง ปักไม้ใหญ่ ๆ ทำเพนียดให้ช้างเดินเข้าบ่วงที่ดักเอาไว้ เพนียดที่นี้ หมายถึงที่จับช้างป่า ชาวบ้านได้เรียกหมู่บ้านนี้ต่อ ๆ กันมาว่า “บ้านเพนียด”

  • หมู่ที่ 5 บ้านทุ่งครก

นายหวัง หมัดปาน เล่าว่าเดิมหมู่บ้านทุ่งครกเป็นป่าใหญ่ มีสัตว์ป่ามากมาย ที่เด่นชัดคือ เสือ  อยู่รวมกับหมู่ที่บ้านเพนียด เมื่อประชากรมากขึ้นจึงแยกมาจาก หมู่ 4 ในปี พ.ศ. 2490 มาเป็นหมู่ที่ 5 บ้านทุ่งครก สาเหตุที่เรียกว่าบ้านทุ่งครก เนื่องจากในสมัยก่อนในหมู่บ้านเป็นป่า และมีต้นไม้ที่เหมาะสำหรับทำครกไว้สำหรับตำข้าวอยู่มาก ดังนั้นเมื่อชาวบ้านต้องการทำครก ก็จะไปหาในบริเวณป่าในหมู่บ้านนี้ เมื่อมีการตั้งหมู่บ้าน จึงเรียกว่า “บ้านทุ่งครก” มาจนถึงปัจจุบัน

  • หมู่ที่ 6 บ้านคูนายสังข์

นายกมล แดงศรีวัลย์ ให้ข้อมูลว่า หมู่บ้านนี้ แต่ก่อนชาวบ้านเรียกว่าบ้านคู ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลจากตัวอำเภอ การสัญจรไปมาไม่สะดวก ไม่ค่อยมีการติดต่อกับหมู่บ้านอื่น ๆ เมื่อเจ้าหน้าที่ของทางอำเภอว่าราชการกับประชาชน หรือผู้นำในหมู่บ้าน ก็จะใช้วิธีการสั่งไปกับคนอื่นที่ผ่านหมู่บ้านนี้ เพราะหนทางลำบาก เจ้าหน้าที่ไม่เข้าไปในหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ของราชการ ชาวบ้านสมัยก่อนมักเรียกว่า “นาย” หมู่บ้านนี้จึงเรียกกันว่า “บ้านคูนายสั่ง” และเพี้ยนมาเป็น “บ้านคูนายสังข์” จนปัจจุบัน

  • หมู่ที่ 7 บ้านสำนักยอ

     นางเจิม หน่อเพ็ง เล่าว่าได้มีกลุ่มคนจากบ้านหินดานย้ายเข้ามาบุกเบิกสร้างที่อยู่อาศัยกลุ่มแรก คือ นายสีรัก ได้เรียกชื่อบ้านว่า “บ้านเก่าหนักยอ” เนื่องจากบริเวณนี้มีต้นยอป่าอยู่มาก    ต่อมามีคนจากบ้านหินดานย้ายตามมาอยู่เป็นส่วนใหญ่ จากบ้านเก่าหนักยอได้เปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านหนักยอ” ต่อมามีการตั้งหมู่บ้านและได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “บ้านสำนักยอ” ในปัจจุบัน

จำนวนประชากร 4,401 คน  แยกเป็น ชาย 2,183 คน หญิง 2,218 คน

ผลงาน/กิจกรรม

 โครงการ 

 1.โครงการส่งเสริมศักยภาพวิสาหกิจชุมชนและองค์กรเครือข่ายประจำปีงบประมาณ 2560 (กิจกรรมฝึกอบรมสานฝันอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มรายได้สู่ครอบครัว) หลักสูตรการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ณ ศาลาอเนกประสงค์ หมู่ที่  1 และ หมู่ที่ 5 ต.แค อ.จะนะ จ.สงขลา

              

2.โครงการฝึกอบรมอาชีพชุมชน  ประจำปีงบประมาณ 2560 หลักสูตรช่างทาสี  สนับสนุนโดย กศน.แค ณ ศาลาอเนกประสงค์ หมู่ที่  4  ต.แค อ.จะนะ จ.สงขลา