ไทยเตรียมส่งแรงงานไปซาอุ

ข่าวประชาสัมพันธ์

เขียนโดย ณัฐสุรางค์ สุสานนท์

 

วันที่ 8 เมษายน 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงแรงงานแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านแรงงาน จำนวน 2 ฉบับ ประกอบด้วย 1. ข้อตกลงว่าด้วยการจัดหาแรงงาน และ 2. ข้อตกลงว่าด้วยการจัดหาแรงงานทำงานในบ้าน เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565

เร่งส่งกลุ่มแรกภายใน 3 เดือน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายกระทรวงแรงงานเร่งดำเนินการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม ทั้งการเตรียมความพร้อมพัฒนากำลังแรงงานมีทักษะฝีมือให้ตรงกับความต้องการของนายจ้างและสถานประกอบการของซาอุดีอาระเบีย และดำเนินการรับสมัครคนหางานที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานในซาอุดีอาระเบีย

“เบื้องต้นตั้งเป้าจัดส่งแรงงานไทยภาคการบริการสุขภาพ ที่อยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย เนื่องจากมีความคล้ายคลึงทางศาสนาและวัฒนธรรม และเป็นประเภทแรงงานที่ทางซาอุฯมีความต้องการมากที่สุด โดยหลังจากที่นายจ้างซาอุฯแจ้งความต้องการตำแหน่งงาน เงื่อนไขการจ้างงานและคุณสมบัติของแรงงาน มายังกระทรวงแรงงานแล้ว

กรมการจัดหางานจะคัดเลือกคนหางานจากศูนย์ทะเบียนคนหางานที่ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ไว้เป็นลำดับแรก และหากคนหางานในศูนย์ทะเบียนไม่เพียงพอหรือไม่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของนายจ้าง จะดำเนินการประกาศรับสมัครต่อไป โดยจะจัดเร่งส่งแรงงานกลุ่มแรกภายใน 3 เดือนหลังการลงนาม MOU”

ลงใต้ ชวนคนไปทำงานบริการสุขภา

วันนี้ (8 มีนาคม 2565) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) พร้อมด้วย นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

ลงพื้นที่ร่วมประชุมหารือร่วมกับ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมด้วยผู้นำแรงงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อเตรียมการจัดส่งแรงงานไปทำงานประเทศซาอุดีอาระเบีย ณ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า การหารือกับ ศอ.บต.และผู้นำแรงงานในวันนี้เพื่อรับทราบข้อมูลแรงงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าผู้ที่ประสงค์จะไปทำงานส่วนใหญ่มีทักษะฝีมือความถนัดด้านใดบ้าง สอดคล้องกับความต้องการของซาอุฯหรือไม่ หากทักษะฝีมือไม่ตรงกับความต้องการก็จะมีการ up-skill หรือ re-skill ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ

กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้เตรียมการด้านหลักสูตรฝึกอบรม สถานที่เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์การฝึกอบรม โดยเฉพาะหลักสูตรภาษาอังกฤษ หรือภาษาอาหรับ นวดแผนไทย นวดสปา การประกอบอาหาร ช่างก่อสร้าง ช่างไฟฟ้า และช่างเชื่อม

เน้นบูรณาการข้อมูลความต้องการตำแหน่งงานกับกรมการจัดหางาน เพื่อดำเนินการฝึกได้ตรงกับความต้องการของนายจ้างในต่างประเทศ โดยผู้ที่สนใจเข้ารับการฝึกอบรมหรือทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 หรือ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทุกแห่งทั่วประเทศ

ด้านพล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า จากการสำรวจกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความสนใจไปทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบียพบรายละเอียดดังนี้

  • กลุ่มแรงงานไทยที่เคยอาศัยหรือทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย และได้เดินทางกลับภูมิลำเนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 899 คน
  • กลุ่มนักศึกษาที่จบการศึกษาจากประเทศแถบตะวันออกลาง 70 คน
  • กลุ่มนักศึกษาที่จบการศึกษาสาขาภาษาอาหรับในประเทศไทย 1,375 คน
  • กลุ่มแรงงานไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เดินทางกลับจากประเทศมาเลเซียเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 12,605 คน
  • กลุ่มนักศึกษาที่ผ่านการฝึกทักษะอาชีพจากศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทานจังหวัดชายแดนภาคใต้ 65 คน
  • กลุ่มประชาชนทั่วไปที่มีความประสงค์ไปทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย 37 คน

สายงานไหนที่ซาอุฯต้องการ

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สายงานที่กรมการจัดหางานต้องเตรียมความพร้อมด้านการจัดหาแรงงานไทยตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น ได้แก่

 
  • ภาคบริการสุขภาพ: งานดูแลผู้ป่วย และงานดูแลผู้สูงอายุ
  • ภาคอุสาหกรรม: งานช่าง วิศวกร ภาคท่องเที่ยว โรงแรม นวดสปา และเชฟ

“จะมีการลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เพื่อหารือข้อราชการเกี่ยวกับการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานซาอุฯ นอกเหนือจากก่อนหน้าที่ได้มอบนโยบายการขยายตลาดแรงงานแก่จัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด ให้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลแก่คนหางานในเขตพื้นที่รับผิดชอบ และประสานหน่วยงานในพื้นที่ทั้งภาครัฐ และเอกชน”

ขั้นตอนสมัครและค่าใช้จ่าย

นายไพโรจน์กล่าวว่า ผู้ที่ต้องการเดินทางไปทำงานที่ประเทศซาอุฯ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ หรือลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ toea.doe.go.th

ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงาน กรณีจัดส่งโดยรัฐ ประมาณ 32,800 บาท ประกอบด้วย

  • ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินไปซาอุดีอาระเบีย ประมาณ 20,000 บาท
  • ค่าธรรมเนียมการยื่นขอวีซ่าแบบเข้าออกครั้งเดียว 6,000 บาท
  • ค่าหนังสือเดินทาง 1,500 บาท
  • ค่าตรวจสุขภาพ 2,300 บาท
  • ค่าตรวจโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประมาณ 1,000 บาท
  • ค่าประกันสุขภาพโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประมาณ 1,000 บาท
  • ค่าทดสอบฝีมือแรงงาน 500 บาท
  • ค่าตรวจสอบประวัติอาชญากรรม 100 บาท
  • ค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ 400 บาท

สำหรับผู้ที่สนใจไปทำงานต่างประเทศ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือหากสนใจเข้ารับการฝึกอบรมหรือทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สอบถามข้อมูลได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4

 
Pin It